การใช้น้ำมันหอมระเหยเพื่อใช้เป็นสารแต่งกลิ่นในอุตสาหกรรมอาหาร

การใช้น้ำมันหอมระเหยเพื่อใช้เป็นสารแต่งกลิ่นในอุตสาหกรรมอาหาร อุตสาหกรรมยา ส่วนผสมเพื่อแต่งกลิ่นในสินค้าอุปโภค เช่น ขนมขบเคี้ยว ยาสีฟัน สบู่ แชมพู ผงซักฟอก น้ำยาปรับผ้านุ่ม เป็นต้น รวมทั้งอุตสาหกรรมเครื่องสำอาง(น้ำหอม และสิ่งปรุงแต่งสำหรับผม) ความต้องการใช้น้ำมันหอมระเหยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอันเป็นผลมาจากผู้บริโภคเริ่มหันมาสนใจสินค้าประเภทตกแต่งกลิ่นจากสารสกัดจากธรรมชาติมากขึ้นกว่าผลิตภัณฑ์ที่ใช้สารตกแต่งกลิ่นสังเคราะห์โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมยาและเครื่องสำอาง และมีการใช้น้ำมันหอมระเหยในหลากหลายผลิตภัณฑ์มากขึ้น และผลิตภัณฑ์ที่มีการใช้น้ำมันหอมระเหยเป็นส่วนประกอบมีแนวโน้มเติบโตอย่างน่าจับตามอง แม้ว่าในปัจจุบันไทยยังต้องพึ่งพาการนำเข้าน้ำมันหอมระเหยและผลิตภัณฑ์ แต่การขยายตัวของการส่งออกน้ำมันหอมระเหยและผลิตภัณฑ์ของไทยในช่วงระยะ 5 ปีที่ผ่านมานี้อยู่ในเกณฑ์สูง เนื่องจากตลาดน้ำมันหอมระเหยและผลิตภัณฑ์เป็นตลาดเฉพาะ นับว่ายังเป็นโอกาสของไทยในการเจาะโลก และผลักดันให้น้ำมันหอมระเหยของไทยเป็นที่รู้จักและยอมรับมากยิ่งขึ้น

ปัจจุบันน้ำมันหอมระเหยได้จากการสกัด/สังเคราะห์จากพืชหรือสัตว์ ซึ่งในปัจจุบันมีการสกัดน้ำมันหอมระเหยประมาณ 3,000 ชนิด อย่างไรก็ตามมีน้ำมันหอมระเหยเพียง 200-300 ชนิดเท่านั้นที่มีการค้ากันอย่างกว้างขวางในตลาดโลก โดยน้ำมันหอมระเหยที่มีการผลิตและการค้าในตลาดโลกนั้นร้อยละ 50 ผลิตมาจากพืชที่มีการปลูกในเชิงพาณิชย์ ส่วนที่เหลือเป็นผลพลอยได้จากอุตสาหกรรมและเก็บจากพืชพรรณป่า โดยน้ำมันหอมระเหยที่มีการผลิตและการค้ากันอย่างกว้างขวางในตลาดโลก 10 ประเภทแรกนั้น (น้ำมันหอมระเหยจากพืชตระกูลส้ม, Cornmint, ยูคาลิปตัส, Peppermint, เลมอน, ไม้ซีดาร์ ฯลฯ) ครองส่วนแบ่งตลาดถึงร้อยละ 80 ของมูลค่าการค้าทั้งหมด ส่วนตลาดอีกร้อยละ 20 นั้นเป็นน้ำมันหอมระเหยอีกประมาณ 150 ชนิด ประเภทของน้ำมันหอมระเหยที่มีบทบาทสำคัญในการค้าในตลาดโลกที่น่าสนใจ คือ น้ำมันหอมระเหยจากพืชตระกูลส้มโดยมีการใช้ผลิตภัณฑ์น้ำมันหอมระเหยประเภทนี้กันอย่างมากในสหรัฐฯ บราซิล และเม็กซิโก ส่วนน้ำมันหอมระเหยที่มีความสำคัญรองลงมาคือ มินต์(Mint) ซึ่งน้ำมันมินต์ที่นิยมในตลาดโลกมีอยู่ 3 ชนิด คือ Peppermint, Spearmint, Cornmint ซึ่งมินต์สองชนิดแรกมีการผลิตมากในสหรัฐฯ อย่างไรก็ตาม Peppermint มีการใช้กันอย่างกว้างขวางมากกว่า ส่วน Cornmint นั้นมีการผลิตมากในจีน อินเดีย และประเทศแถบอเมริกาใต้ น้ำมันหอมระเหยกลิ่นมะนาว มีการใช้มากในอุตสาหกรรมสบู่ มีการผลิตมากในจีน อินเดีย และประเทศแถบอเมริกาใต้ เนื่องจากประเทศในแถบนี้มีค่าแรงอยู่ในเกณฑ์ต่ำ และน้ำมันยูคาลิปตัสมีการผลิตมากในออสเตรเลีย บราซิล จีน และประเทศในแถบแอฟริกาใต้ และน้ำมันไม้ซีดาร์ซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีในตลาดในประเทศแถบอเมริกาเหนือ เนื่องจากเป็นผลพลอยได้ของอุตสาหกรรมไม้ อย่างไรก็ตามอินโดนีเซียก็มีการผลิตน้ำมันประเภทนี้มากเช่นกัน

This entry was posted in ธุรกิจ. Bookmark the permalink.