การผลิตก๊าซชีวภาพจากมูลสัตว์

การผลิตก๊าซชีวภาพจากมูลสัตว์
การผลิตก๊าซชีวภาพส่วนใหญ่จะแยกตามแหล่งที่มาของน้ำเสีย ได้แก่ฟาร์มเลี้ยงสัตว์ ของเสียจากอุตสาหกรรมขยะมูลฝอยและครัวเรือน ปัจจุบันเทคโนโลยีการผลิตก๊าซชีวภาพจะใช้กระบวนการย่อยสลายทางชีววิทยาแบบไม่ใช้อากาศ ภายในบ่อหมัก โดยแบ่งตามอัตราการย่อยสลายอินทรีย์ ได้ 2 ระดับ คือ อัตราการย่อยสลายอินทรีย์ต่ำ และสูงสำหรับมูลสัตว์
1. บ่อหมักไร้ออกซิเจนแบบช้า มีอยู่ด้วยกัน 3 รูปแบบ คือ
-แบบโดมคงที่ (Fixed dome digester)
-แบบฝาครอบลอย (Floating drum digester)
-แบบรางขนาน (Plug flow digester) ซึ่งมี 2 รูปแบบ คือ
แบบพลาสติกคลุมบ่อดิน (Cover lagoon)
แบบพลาสติกคลุมราง บ่อหมักไร้ออกซิเจนแบบช้าจะต้องใช้พื้นที่ในการติดตั้งอุปกรณ์มาก เพราะต้องใช้เวลาในการกักเก็บน้ำสูง
2. บ่อหมักไร้ออกซิเจนแบบเร็ว (High rate anaerobic reactor)
มีอัตราการย่อยสลายเกิดขึ้นรวดเร็ว เพราะในระบบมีการกวนผสม การกักเก็บและรักษาตะกอนแบคทีเรียที่มีคุณภาพให้อยู่ในระบบเป็นเวลานาน โดยออกแบบให้ตะกอนถูกยึดตรึงไว้กับตัวกลาง หรือการทำให้ตะกอนรวมตัวกันเป็นก้อน และยังมีการนำตะกอนที่หลุดไปกับน้ำล้นกลับมาในระบบ บ่อหมักมีขนาดเล็ก สามารถรับปริมาณของเสียได้มาก ซึ่งบ่อหมักแบบนี้ เหมาะสมที่จะนำมาประยุกต์ใช้กับน้ำเสียอุตสาหกรรมที่มีปริมาณความเข้มข้นสารอินทรีย์สูง และก๊าซชีวภาพที่ผลิตได้สามารถนำไปใช้ทดแทนเชื้อเพลิงที่ใช้ในกระบวนการผลิต ทำให้ลดค่าใช้จ่ายการบำบัดให้ต่ำลง ช่วยลดการใช้เชื้อเพลิง และน้ำเสียที่บำบัดแล้วจะเป็นไปตามมาตรฐานน้ำทิ้ง
บ่อหมักแบบไร้ออกซิเจนแบบเร็ว จะแบ่งออกเป็น
2.1 แบบ Up-Flow Anaerobic Sludge Blanket (UASB) น้ำเสียจะถูกสูบเข้าก้นถังที่แบ่งเป็น 2 ชั้น ชั้นล่าง (Sludge bed) เป็นตะกอนเม็ด (granular bacteria) ขนาด 2–5 มม. เป็นแบคทีเรียใยขาวเกาะกันมีความหนาแน่นสูง ส่วนชั้นบนเรียกว่า Sludge blanket ทางด้านบนของบ่อหมัก UASB จะมีอุปกรณ์ที่เรียกว่า Gas Solid Separator ทำหน้าที่แยกก๊าซและป้องกันมิให้ตะกอนแบคทีเรียหลุดออกไปกับน้ำเสีย
2.2 แบบ High suspension solid Up-Flow Anaerobic Sludge Blanket (H-UASB) พัฒนาจากระบบ UASB เพื่อแก้ไขปัญหาการอุดตันของระบบหัวจ่ายน้ำเนื่องจากตะกอนของมูลสัตว์ มี buffer tank ทำหน้าที่แยกตะกอนแขวนออกจากน้ำเสียและมูลสัตว์ให้มีปริมาณน้อยที่สุด

This entry was posted in ธุรกิจ and tagged . Bookmark the permalink.